EXIM BANK ผนึกกำลัง บสย. เติมทุน-ค้ำประกัน เปิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมการให้สินเชื่อแก่ Supply Chain การส่งออก

EXIM BANK ผนึกกำลัง บสย. เติมทุน-ค้ำประกัน เปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมการให้สินเชื่อแก่ Supply Chain การส่งออก เดินเกมเปลี่ยนประเทศไทยเติมเต็มเศรษฐกิจฐานรากและวงจรธุรกิจส่งออก ดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและเติบโตยั่งยืน

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนลุกลามจนกลายเป็นสงครามตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้บั่นทอนทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงราว 5% นับตั้งแต่เกิดสงคราม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและมีความเสี่ยงจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นจากการนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงขึ้น หลายหน่วยงานเศรษฐกิจคาดการณ์ว่า GDP ประเทศไทยในปี 2565 จะขยายตัวไม่ถึง 3% จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยเงินเฟ้อเดือนมีนาคมอยู่ที่ 5.7% สูงสุดในรอบ 13 ปี กดดันกำลังซื้อและต้นทุนการผลิต

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครนเปรียบเสมือน “มะเร็ง” ที่อาจลุกลามและสร้างแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แม้ในระยะแรกอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงจำกัด เพราะไทยพึ่งพาการค้ากับรัสเซียและยูเครนเพียง 0.6% (รัสเซีย 0.5% ยูเครน 0.1%) ของมูลค่าการค้ารวมของไทย แต่อาจกดดันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอยู่บ้าง โดยนับตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวรัสเซียได้กลับเข้ามาในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย อย่างไรก็ตาม ภาวะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบทางอ้อมด้านราคา (Price Effect) ที่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่รัสเซียและยูเครนมีส่วนแบ่งในตลาดโลกค่อนข้างมาก ที่เห็นได้ชัดได้แก่ สินค้ากลุ่มพลังงาน โดยราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 40% จนเริ่มส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่พึ่งพาพลังงานสูง เช่น การขนส่ง โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล เหล็ก ซีเมนต์ รวมถึงกลุ่มธัญพืชที่จะกระทบต่อการผลิตอาหาร และกลุ่มแร่หายากที่จะกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมตามมา นอกจากนี้ ผลกระทบด้านราคาดังกล่าวยังอาจลุกลามจนกระทบอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคถูกกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น การลงทุนอาจได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้การนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนมีราคาแพงขึ้น

 

ดร.รักษ์ กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามความเสี่ยงดังกล่าวและขยายตัวได้ต่อเนื่อง ผู้ส่งออกไทยภายใต้โลกยุค Next Normal ต้องพลิกโฉม Supply Chain ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การขาย และตัวสินค้าเอง กล่าวคือ การหาวัตถุดิบเพื่อป้อนกระบวนการผลิตมุ่งเน้นแหล่งใกล้ๆ โดยเฉพาะภายในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนวัตถุดิบหรือข้อจำกัดของการขนส่งข้ามประเทศ การผลิตในแต่ละขั้นตอนเน้นการยกระดับเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าสินค้า การขนส่งและกระจายสินค้าต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ การขายสินค้าเน้นออนไลน์มากขึ้น สินค้าต้องมีอัตลักษณ์และสอดรับกับเมกะเทรนด์ยุคใหม่ เช่น การใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ส่งออกไทยพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นส่วนใหญ่ คิดเป็น 70% ของมูลค่าส่งออกรวม และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น EXIM BANK จึงร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใน Supply Chain การส่งออกเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องและยกระดับคุณภาพธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก ผู้ส่งออก และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ตลอดทั้งกระบวนการของธุรกิจส่งออกและที่เกี่ยวเนื่องให้แข็งแกร่งและแข่งขันได้ในระดับสากล

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. จึงได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมการให้สินเชื่อแก่ Supply Chain การส่งออก โดยนำ บสย. เข้ามาแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยสมบูรณ์และปลดล็อกให้ “บุคคล” สามารถกู้เงินทำธุรกิจเพื่อส่งมอบวัตถุดิบให้ผู้ส่งออก เติมเต็มสภาพคล่องให้แก่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทยท่ามกลางปัจจัยท้าทายในปัจจุบัน

สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัปพลายเออร์ส่งออก สำหรับนิติบุคคลและบุคคลที่ผลิต/จำหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมดำเนินธุรกิจส่งออก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย Prime Rate (เท่ากับ 5.75% ต่อปี ณ ปัจจุบัน) ตลอดอายุโครงการ 5 ปี ใช้เพียงหนังสือค้ำประกัน บสย. ร่วมกับผู้บริหารหลัก และ/หรือนิติบุคคลค้ำประกัน พิเศษ! ลดดอกเบี้ยอีก 0.75 % ในปีแรก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีเอกสารรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ตามที่ธนาคารกำหนด

 

สินเชื่อ EXIM Logistics สำหรับผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 5.0% ต่อปีในปีแรก สำหรับวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้เพียงหนังสือค้ำประกัน บสย. ร่วมกับบุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันเท่านั้น พิเศษ! ลดดอกเบี้ยอีก 0.50% ใน 2 ปีแรกสำหรับผู้เข้าร่วมงานและลงทะเบียนในกิจกรรมต่างๆ ของ EXIM BANK หรืออยู่ในสมาคมหรือเป็นสมาชิกตามที่ธนาคารกำหนด

ผู้สนใจสามารถขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 มีนาคม 2566 สอบถาม EXIM Contact Center โทร.0-2169-9999 พิเศษ! หากขอสินเชื่อภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 รับส่วนลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปีในปีแรก ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ค่าธรรมเนียม Front-end Fee รวมลดเหลือเพียง 1% จากเดิม 2% กรณีใช้ บสย. ค้ำประกันร่วม เพื่อลดภาระผู้ประกอบการเพิ่มเติม

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย. พร้อมจับมือพันธมิตรเพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมีวงเงินค้ำประกันรวม 94,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) ประกอบด้วย 3 โครงการสำคัญ ดังนี้

โครงการ บสย. SMEs นำเข้า-ส่งออก วงเงิน 1,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปี

โครงการ บสย. SMEs เติมเต็มรายย่อย วงเงิน 8,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปี

โครงการ บสย. SMEs ดีแน่นอน วงเงิน 85,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี
วงเงินค้ำประกันจำนวน 94,000 ล้านบาท จะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบอย่างน้อย 116,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือ SMEs ได้จำนวน 20,600 ราย และยังช่วยรักษาการจ้างงานในระบบกว่า 600,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ถือเป็นภาระกิจสำคัญที่ บสย. ต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 สอบถามศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs บสย. F.A.Center โทร.0-2890-9999 หรือ Line @doctor.tcg

“ท่ามกลางปัจจัยท้าทายรอบด้าน EXIM BANK ยังมุ่งสู่บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เร่งเดินหน้าสานพลังกับพันธมิตร เช่น บสย. ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานอยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือในการประเมินคุณภาพสินเชื่อ (Credit Scoring) และส่งต่อลูกค้าระหว่างกัน (Referral) เพื่อให้สามารถบริการแก่ผู้ประกอบการได้สะดวก รวดเร็ว และง่ายยิ่งขึ้น เร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยและต่อยอดการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยใช้จุดแข็งของทั้ง 2 องค์กร ทำหน้าที่ซ่อม สร้าง และเสริมให้เศรษฐกิจตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ไปจนถึงโรงงานสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ใช้ศักยภาพของตนเองบวกกับความได้เปรียบของประเทศเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างไร้พรมแดน สร้างเสน่ห์ของสินค้าไทยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดิจิทัล และสุขภาพมากขึ้น สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy โดยสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

ASW ท็อปฟอร์มไตรมาสแรกกวาดยอดพรีเซล 3,250 ล้านบาท ทะลุ 33%

 

ASW ไตรมาสแรกทำยอดขายพรีเซล 3,250 ล้านบาท คิดเป็น 33% จากเป้าหมายทั้งปีที่ 10,000 ล้านบาท ไตรมาส 2 เดินหน้าเปิด 3 โครงการใหม่ ทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมบนทำเลทอง มั่นใจหนุนยอดขายสร้างสถิติใหม่ที่ 10,000 ล้านบาท

นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการสร้างยอดขายในไตรมาสแรกของปี 2565 อยู่ที่ 3,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคิดเป็น 33% ของเป้าหมายยอดขายทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าด้วยยอดขายที่เติบโตได้ดี จะผลักดันยอดขายรวมปีนี้สร้างสถิติใหม่ที่ 10,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ยอดขายไตรมาสแรกที่ 3,250 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายจากกลุ่มคอนโดมิเนียมคิดเป็น 96% และกลุ่มบ้านจัดสรร 4% หากแบ่งตามสถานะโครงการ มีสัดส่วนยอดขายจากโครงการพร้อมอยู่ (Ready to move) 46% และกลุ่มโครงการที่เพิ่งเปิดขายหรืออยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง (On Construction) 54%

“คีย์ซักเซสที่ผลักดันให้ ASW เป็นผู้ดำเนินธุรกิจอสังหาฯ ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มาจากที่เราเข้าใจ Consumer Insight พร้อมกับการออกแบบโครงการให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในหลากหลายมิติ ทั้งรูปแบบการ Work From Home การทำกิจกรรมต่างๆ และการพักผ่อนตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่มลูกค้า ภายใต้การสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่เข้าใจผู้อยู่อาศัย เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีสอดแทรกเข้าไปกับการออกแบบโครงการ การใส่ใจรายละเอียด ตลอดจนความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้ลูกบ้านได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งการบริหารงานที่มีการวิเคราะห์เน้นการศึกษาตลาด และการเลือกทำเลที่มีศักยภาพ” นายกรมเชษฐ์ กล่าว

ASW ท็อปฟอร์มไตรมาสแรกกวาดยอดพรีเซล 3,250 ล้านบาท ทะลุ 33%

ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทฯ วางแผนเปิดโครงการใหม่ 7 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 12,400 ล้านบาท โดยแผนงานไตรมาส 2/2565 จะเปิดตัว 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการแนวราบ Esta Rangsit Khlong 2 จำนวน 153 ยูนิต มูลค่าโครงการ 680 ล้านบาท 2) โครงการคอนโดมิเนียม Atmoz Flow Minburi จำนวน 739 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,350 ล้านบาท และ 3) โครงการคอนโดมิเนียม Atmoz Portrait Srisaman จำนวน 678 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,150 ล้านบาท มั่นใจว่าด้วยศักยภาพโครงการ ทำเลที่โดดเด่น การออกแบบดีไซน์โครงการที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า และแผนกลยุทธ์การตลาด จะผลักดันยอดขายในช่วงไตรมาส 2 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย

บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงและแนวราบบนทำเลศักยภาพ ภายใต้แนวคิด “ความสุขที่ออกแบบมาเพื่อคุณ” หรือ “We Build Happiness” ปัจจุบันได้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการบ้านจัดสรรมาแล้วกว่า 39 โครงการ ภายใต้แบรนด์ในเครือที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความสุขให้เหมาะกับทุกไลฟ์สไตล์ ได้แก่ แบรนด์ เคฟ (KAVE), แบรนด์ แอทโมซ (ATMOZ), แบรนด์ โมดิซ (MODIZ), แบรนด์ เอสต้า (ESTA) และ แบรนด์ ดิ ออเนอร์ (THE HONOR) รวมมูลค่าโครงการกว่า 38,500 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและโครงการพร้อมอยู่ จำนวน 31 โครงการ และโครงการที่กำลังเปิดขายและอยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 8 โครงการ โดยปัจจุบันมียอดรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่ารวมกว่า 7,338 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business

จับตารายงานเฟด-สงครามรัสเซียหนุนเงินบาทผันผวน

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 33.15-33.75 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “รายงานการประชุมเฟด ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ย-ลดงบดุล-เจรจาสันติภาพรัสเซียและยูเครน” หนุนเงินบาทผันผวน

วันที่ 3 เมษายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 4-8 เมษายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.25-33.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงรายงานการประชุมของเฟด โดยตลาดรอดูว่าจะมีการพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ยังไง และรายละเอียดของการลดงบดุลหรือไม่

ทั้งนี้ หากในรายงานมีเรื่องลดงบดุลจะลดแรงกว่าคาด ซึ่งอาจจะดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวขึ้นได้ ทำให้อาจเห็นแรงเทขายบอนด์ รวมถึงฝั่งไทยก็อาจจะโดนด้วย และอาจจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ จะเป็นตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนการสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยแรงของสหรัฐฯ ได้หากตัวเลขออกมาค่อนข้างดี รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยที่คาดว่าจะออกมาใกล้เคียงในระดับ 6%

อย่างไรก็ดี จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามที่ธปท.ส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ ตลอดจนยังคงต้องติดตามประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อบรรยายตลาด

“ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนและสวิงเยอะ และมีความเสี่ยงอ่อนค่าได้จากประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน หากสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจเห็นบาทแข็งค่าได้ หรือสถานการณ์ยังไม่ดีบาทไปในทางอ่อนค่า ซึ่งแนวต้านอยู่ที่ 33.50-33.70 บาทต่อดอลลาร์”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดบอนด์ซื้อสุทธิ 9.9 พันล้านบาท

ขณะที่ฟันด์โฟลว์สัปดาห์หน้า ประเมินว่าตลาดหุ้นก็จะยังมีเงินไหลเข้าได้บ้าง แต่อาจจะเริ่มมีขายแล้ว เพราะว่า SET index จะแตะแนวต้าน แต่โดยรวม หุ้นน่าจะซื้อสุทธิมากกว่า 5 พันล้านบาท ส่วนบอนด์ มีฝรั่งมาซื้อตัวสั้นเยอะก็จริง แต่ก็เริ่มน้อยลง โดยสัปดาห์หน้าคิดว่าคงมีมาซื้อบ้าง

โดยสัญญาณนักลงทุนอาจจะมาทำพวกส่วนต่าง Arbitrage ซื้อบอนด์สั้นแบบต้นปีได้อยู่ แต่อาจไม่เยอะมาก เพราะส่วนต่างไม่เยอะ ส่วนบอนด์ยาว น่าจะมีมาขายบ้าง เพราะยีลด์ระยะยาวลงมาระดับนึง ดังนั้น ภาพรวมรวมคิดว่าอาจจะซื้อสุทธิ แต่ไม่เยอะมากอยู่ที่กว่า 5 พันล้านบาท

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 33.15-33.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องติดตามรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอบล่าสุด และสถานการณ์ความคืบหน้าเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนต่างพันธบัตร (บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ) และทิศทางโควิด-19 ในจีนเป็นหลัก

โดยกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย มองว่ายังคงไหลเข้าหุ้นไทย แต่แนวโน้มอาจซึมลงก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลอีสเตอร์ อีกทั้งขึ้นอยู่กับราคาพลังงานในตลาดโลก ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตและดุลการค้าของไทย ขณะที่เฟดมีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2-3 ของปีนี้

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

Fund Flow ไหลเข้าต่อเนื่อง หนุน SET ยืนเหนือ 1,700 จุด

หุ้นปิดบวก 6.07 จุด หลังซึมซับปัจจัยลบไปแล้ว คาดหวัง ศก.ไทยฟื้นกลางปีหนุน Fund Flow ไหลเข้าต่อเนื่อง โดยสามารถยืนเหนือระดับ 1,700 จุดได้ ซึ่งแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกและลบสลับกัน

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้น โดยสามารถยืนเหนือระดับ 1,700 จุดได้ ซึ่งแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกและลบสลับกัน เนื่องจากนักลงทุนน่าจะซึมซับปัจจัยลบไปค่อนข้างมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนระหว่างรัสเซียและยูเครน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และยังได้ปัจจัยหนุนจากโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่คาดจะฟื้นตัวได้ดีในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป จากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้ามาต่อเนื่อง

ด้านภาวะตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,701.31 จุด เพิ่มขึ้น 6.07 จุด หรือเปลี่ยนแปลง +0.36% มูลค่าการซื้อขาย 68,941.19 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์หน้าคาดว่า ตลาดน่าจะแกว่งไซด์เวย์ ถึงไซด์เวย์อัป ให้แนวรับไว้ที่ 1,685 จุด และแนวต้าน 1,720 จุด

โดยแนะติดตามการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 5 เม.ย.65 ตัวเลขภาคการบริการของสหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

“โพล ส.อ.ท.” จี้รัฐทบทวนขึ้นค่าไฟ-ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบรับมือวิกฤติพลังงาน-โควิด

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 16 ในเดือนมีนาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “โพล ส.อ.ท. หนุนทบทวนปรับขึ้นค่า Ft” จากสมาชิก ส.อ.ท. จำนวน 460 บริษัท พบว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่สงครามยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ เช่น การทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Float time: Ft) ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น

โดยการสำรวจ FTI Poll ครั้งนี้ เป็นการสำรวจความเห็นจากสมาชิก ส.อ.ท. ที่เข้าร่วมประชุมสามัญ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 โดยสอบถามสมาชิกเกี่ยวกับข้อเสนอที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการใน 5 เรื่อง ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 460 ท่าน ครอบคลุมผู้ประกอบการจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 16 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

1.ภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากราคาพลังงานแพงอย่างไร

อันดับที่ 1 : ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) 68.30%

อันดับที่ 2 : ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า 57.60%

อันดับที่ 3 : สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร/อุปกรณ์ 55.00% เพื่อการประหยัดพลังงาน

อันดับที่ 4 : เพิ่มสิทธิประโยชน์ BOI สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทน 50.90% ให้สามารถยกเว้นภาษีได้ 100% ของเงินลงทุน

อันดับที่ 5 : โครงการคืนผลประหยัดไฟฟ้าที่ลดได้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (Demand Response) 48.50%

2.ภาครัฐควรดำเนินการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบแพงอย่างไร

อันดับที่ 1 : ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต 63.90%

อันดับที่ 2 : ปลดล๊อคเงื่อนไขและโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ขาดแคลน 63.00%

อันดับที่ 3 : ควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง 53.50%

อันดับที่ 4 : สนับสนุนให้ผู้ส่งออกวัตถุดิบขาดแคลนให้มาจำหน่ายภายในประเทศก่อน 46.70%

อันดับที่ 5 : สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ 42.40% เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ

3.ภาครัฐควรดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร

อันดับที่ 1 : ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) 71.10% ในภูมิภาค เช่น ทางราง, ทางเรือ เป็นต้น

อันดับที่ 2 : เร่งการเชื่อมโยงใบอนุญาต/ใบรับรองต่างๆ ของกลุ่มสินค้าหลัก 57.60% ในระบบ National Single Window (NSW)

อันดับที่ 3 : ส่งเสริมและพาผู้ประกอบการออกไปเปิดตลาดที่ไทยมีศักยภาพ 57.20%

อันดับที่ 4 : ผลักดันการเปิดด่านชายแดนที่ถูกปิดช่วงโควิดและยกระดับด่านชายแดน 54.60% เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า

อันดับที่ 5 : ผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local currency) ในการค้าขายผ่านชายแดน 27.20%

4.ภาครัฐควรปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างไร

อันดับที่ 1 : ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) แทนค่าแรงขั้นต่ำ 71.10%

อันดับที่ 2 : เร่งพิจารณาเปิดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย 60.00% ให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง

อันดับที่ 3 : ขอให้ภาครัฐหารือกับรัฐบาลประเทศต้นทางในระดับรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดการนำเข้า 54.60% แรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU โดยเร็ว

อันดับที่ 4 : ปรับลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด่าว เช่น ค่าตรวจ COVID-19 51.70% เปลี่ยนการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นการตรวจด้วยวิธี ATK, ลดค่าสถานที่กักตัว และลดระยะเวลากักตัว เป็นต้น

อันดับที่ 5 : พิจารณาปรับขั้นตอนการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU 49.80% ให้มีความรัดกุม เพื่อป้องกันการแย่งคนงานระหว่างผู้ประกอบการ

5.ภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการใดเพื่อส่งเสริมการเปิดประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

อันดับที่ 1 : สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว 64.10%

อันดับที่ 2 : ปรับกระบวนการออกใบอนุญาต Work permit เพื่ออำนวยความสะดวก 60.40% และดึงแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ

อันดับที่ 3 : ผ่อนปรนเงื่อนไขและเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุนศักยภาพให้เข้ามาลงทุน 60.20% และอาศัยในประเทศ (Long Stay)”

อันดับที่ 4 : เร่งพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Capital Gain Tax) 53.00% สำหรับธุรกิจ Start up ให้มาลงทุนในไทยมากขึ้น

อันดับที่ 5 : ยกเลิกมาตรการ Test & Go และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ 50.00%

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy