Fund Flow ไหลเข้าต่อเนื่อง หนุน SET ยืนเหนือ 1,700 จุด

หุ้นปิดบวก 6.07 จุด หลังซึมซับปัจจัยลบไปแล้ว คาดหวัง ศก.ไทยฟื้นกลางปีหนุน Fund Flow ไหลเข้าต่อเนื่อง โดยสามารถยืนเหนือระดับ 1,700 จุดได้ ซึ่งแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกและลบสลับกัน

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้น โดยสามารถยืนเหนือระดับ 1,700 จุดได้ ซึ่งแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกและลบสลับกัน เนื่องจากนักลงทุนน่าจะซึมซับปัจจัยลบไปค่อนข้างมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนระหว่างรัสเซียและยูเครน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และยังได้ปัจจัยหนุนจากโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่คาดจะฟื้นตัวได้ดีในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป จากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้ามาต่อเนื่อง

ด้านภาวะตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,701.31 จุด เพิ่มขึ้น 6.07 จุด หรือเปลี่ยนแปลง +0.36% มูลค่าการซื้อขาย 68,941.19 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์หน้าคาดว่า ตลาดน่าจะแกว่งไซด์เวย์ ถึงไซด์เวย์อัป ให้แนวรับไว้ที่ 1,685 จุด และแนวต้าน 1,720 จุด

โดยแนะติดตามการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 5 เม.ย.65 ตัวเลขภาคการบริการของสหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

“โพล ส.อ.ท.” จี้รัฐทบทวนขึ้นค่าไฟ-ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบรับมือวิกฤติพลังงาน-โควิด

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 16 ในเดือนมีนาคม 2565 ภายใต้หัวข้อ “โพล ส.อ.ท. หนุนทบทวนปรับขึ้นค่า Ft” จากสมาชิก ส.อ.ท. จำนวน 460 บริษัท พบว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่สงครามยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ เช่น การทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Float time: Ft) ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น

โดยการสำรวจ FTI Poll ครั้งนี้ เป็นการสำรวจความเห็นจากสมาชิก ส.อ.ท. ที่เข้าร่วมประชุมสามัญ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 โดยสอบถามสมาชิกเกี่ยวกับข้อเสนอที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการใน 5 เรื่อง ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวน 460 ท่าน ครอบคลุมผู้ประกอบการจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 16 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

1.ภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากราคาพลังงานแพงอย่างไร

อันดับที่ 1 : ทบทวนการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) 68.30%

อันดับที่ 2 : ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า 57.60%

อันดับที่ 3 : สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร/อุปกรณ์ 55.00% เพื่อการประหยัดพลังงาน

อันดับที่ 4 : เพิ่มสิทธิประโยชน์ BOI สำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทน 50.90% ให้สามารถยกเว้นภาษีได้ 100% ของเงินลงทุน

อันดับที่ 5 : โครงการคืนผลประหยัดไฟฟ้าที่ลดได้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (Demand Response) 48.50%

2.ภาครัฐควรดำเนินการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และวัตถุดิบแพงอย่างไร

อันดับที่ 1 : ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อภาคการผลิต 63.90%

อันดับที่ 2 : ปลดล๊อคเงื่อนไขและโควต้าการนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะในวัตถุดิบที่ขาดแคลน 63.00%

อันดับที่ 3 : ควบคุมและดูแลราคาสินค้าไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินจริง 53.50%

อันดับที่ 4 : สนับสนุนให้ผู้ส่งออกวัตถุดิบขาดแคลนให้มาจำหน่ายภายในประเทศก่อน 46.70%

อันดับที่ 5 : สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ 42.40% เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ

3.ภาครัฐควรดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร

อันดับที่ 1 : ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) 71.10% ในภูมิภาค เช่น ทางราง, ทางเรือ เป็นต้น

อันดับที่ 2 : เร่งการเชื่อมโยงใบอนุญาต/ใบรับรองต่างๆ ของกลุ่มสินค้าหลัก 57.60% ในระบบ National Single Window (NSW)

อันดับที่ 3 : ส่งเสริมและพาผู้ประกอบการออกไปเปิดตลาดที่ไทยมีศักยภาพ 57.20%

อันดับที่ 4 : ผลักดันการเปิดด่านชายแดนที่ถูกปิดช่วงโควิดและยกระดับด่านชายแดน 54.60% เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า

อันดับที่ 5 : ผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local currency) ในการค้าขายผ่านชายแดน 27.20%

4.ภาครัฐควรปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างไร

อันดับที่ 1 : ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) แทนค่าแรงขั้นต่ำ 71.10%

อันดับที่ 2 : เร่งพิจารณาเปิดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย 60.00% ให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง

อันดับที่ 3 : ขอให้ภาครัฐหารือกับรัฐบาลประเทศต้นทางในระดับรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดการนำเข้า 54.60% แรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU โดยเร็ว

อันดับที่ 4 : ปรับลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด่าว เช่น ค่าตรวจ COVID-19 51.70% เปลี่ยนการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นการตรวจด้วยวิธี ATK, ลดค่าสถานที่กักตัว และลดระยะเวลากักตัว เป็นต้น

อันดับที่ 5 : พิจารณาปรับขั้นตอนการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU 49.80% ให้มีความรัดกุม เพื่อป้องกันการแย่งคนงานระหว่างผู้ประกอบการ

5.ภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการใดเพื่อส่งเสริมการเปิดประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

อันดับที่ 1 : สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว 64.10%

อันดับที่ 2 : ปรับกระบวนการออกใบอนุญาต Work permit เพื่ออำนวยความสะดวก 60.40% และดึงแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ

อันดับที่ 3 : ผ่อนปรนเงื่อนไขและเพิ่มมาตรการจูงใจนักลงทุนศักยภาพให้เข้ามาลงทุน 60.20% และอาศัยในประเทศ (Long Stay)”

อันดับที่ 4 : เร่งพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Capital Gain Tax) 53.00% สำหรับธุรกิจ Start up ให้มาลงทุนในไทยมากขึ้น

อันดับที่ 5 : ยกเลิกมาตรการ Test & Go และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ 50.00%

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy

 

IND คว้างาน “สำนักการระบายน้ำ” ดัน Backlog โต

บมจ.อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (IND) แจกข่าวดี คว้างานที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำใต้ถนนพระรามที่ 6 จากคลองสามเสนลงสู่อุโมงค์ใต้คลองบางซื่อ จากสำนักการระบายน้ำ มูลค่ารวม 11.50 ล้านบาท หนุนงานในมือรอรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นแตะ 2,164.87 ล้านบาท ฟากผู้บริหาร “รัฐวิชญ์ ณ ลำพูน” ระบุเดินหน้าประมูลโครงการของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ต่อยอดรายได้และกำไรได้อีกเพียบ ส่งซิกผลงานไตรมาส 1/65 สดใส มั่นใจทั้งปีโตเข้าเป้า 20-25%

นายรัฐวิชญ์ ณ ลำพูน ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ IND ผู้ให้บริการงานด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมครอบคลุมงานออกแบบพร้อมก่อสร้าง งานบริหารโครงการขนาดใหญ่และควบคุมงานก่อสร้างของภาครัฐ รวมถึงงานด้านวิศวกรรมที่ปรึกษาต่างๆ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญากับสำนักการระบายน้ำ ซึ่งเป็นงานสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำใต้ถนนพระรามที่ 6 จากคลองสามเสนลงสู่อุโมงค์ใต้คลองบางซื่อ โดยมีมูลค่าสัญญาประมาณ 11,502,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 720 วัน

“ภาพรวมธุรกิจนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่เริ่มมีงานประมูลออกมา และเริ่มทยอยส่งมอบได้ หลังจากที่งานส่วนใหญ่ถูกชะลอจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาบริษัทฯ มีงานใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ประมาณ 2,164.87 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และยังคงเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆ จากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนอีกจำนวนมาก ทำให้ภาพรวมไตรมาส 1/2565 มีสัญญาณที่ดีขึ้น และมั่นใจว่าผลงานในปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ไม่ต่ำกว่า 20-25%”

เขากล่าวต่อในช่วงท้ายว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลโครงการออกแบบและก่อสร้างเพิ่มอีกกว่า 20 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท คาดว่ามีโอกาสได้งานสูงถึง 80% สะท้อนให้เห็นว่างานโครงการใหม่ๆ จากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเริ่มเดินหน้า ทำให้บริษัทฯ จะมีโอกาสได้รับงานเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยเสริมฐานรายได้และกำไรที่มั่นคงสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

“EIC” หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.7% เงินเฟ้อพุ่ง 4.9% พิษรัสเซีย-ยูเครน แนะรัฐบริหารพลังงานไม่ฝืนทิศทางตลาด

EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตที่ 2.7% จากเดิม 3.2% จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานและเงินเฟ้อเร่งตัว กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้การกลับไปสู่ระดับ GDP รายปีก่อนเกิดโควิดของไทยล่าช้าเป็นครึ่งหลังของปีหน้า แนะรัฐปรับนโยบายตรึงราคาน้ำมันแบบ Managed Float

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า EIC ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 65 ลงเป็น 2.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.2% จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9%

ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงตามราคาพลังงานและอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ทันค่าครองชีพ ขณะที่การเร่งตัวของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) ตามการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อสถานการณ์การระบาดโควิดและการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมของภาครัฐ จะกระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่ และภาคธุรกิจจะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นและอัตรากำไรที่ลดลง โดยมีแนวโน้มทยอยปรับราคาสินค้าทั่วไปเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภคมากขึ้นเป็นลำดับ และชะลอ การลงทุนจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

ส่วนด้านภาคการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรปที่ชะลอลงกว่าคาดและปัญหาการชะงักงันของอุปทาน (supply disruption) ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ที่ 6.1% ในปีนี้ แต่เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนโดยเฉพาะในหมวดพลังงานมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ

สำหรับภาคการท่องเที่ยว มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวของภาครัฐที่ผ่อนคลายขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับการทยอยเปิด การเดินทางของหลายประเทศในแถบเอเชีย จะช่วยชดเชยการชะลอลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปที่ถูกกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนผลกระทบจากต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นได้บางส่วน ส่งผลให้ในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าไทยราว 5.7 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิมที่ 5.9 ล้านคน

ส่วนตลาดแรงงานนั้นการฟื้นตัวของภาคบริการตามทิศทางการเปิดเมืองจะส่งผลให้การจ้างงานในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่ตลาดแรงงานไทยยังคงมีความเปราะบางจากชั่วโมงการทำงานที่ลดต่ำลงมาก การไหลกลับของแรงงานไปในภาคเกษตร และแนวโน้มการทำงานอิสระที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดทั้งปัญหาระยะสั้นจากรายได้จากการทำงานลดต่ำกว่าเดิมค่อนข้างมาก และปัญหาระยะยาวจากจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและการปรับทักษะของแรงงานลดลง

ทั้งนี้ด้านผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและปัญหาแรงงานไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ธุรกิจโดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างและโรงแรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองใหญ่ประสบปัญหาการหาแรงงานและมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมฐานะทางการเงินของธุรกิจเอสเอ็มอีให้เปราะบางมากขึ้น จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ค่าจ้างจากการทำงานจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆไม่เพียงพอต่อการชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่รายได้ที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ของแรงงานโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครปรับลดลงกว่า 10%

ขณะที่ในส่วนค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลก จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ยังคงเผชิญปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาครัฐจึงยังควรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบของครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า การขาดดุลงบประมาณและสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

โดย EIC มองว่า นโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแบบหน้ากระดานเช่นในช่วงที่ผ่านมา มีผลเสียที่ไม่ตั้งใจอย่างน้อย 3 มิติคือ 1.เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ได้รับประโยชน์หลักคือครัวเรือนที่มีรายได้สูง เนื่องจากเป็นผู้ใช้พลังงานในปริมาณมากกว่า โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้สูง 20% แรกได้รับประโยชน์ในเชิงเม็ดเงินจากมาตรการนี้มากถึง 9.6 เท่าเทียบกับกลุ่มรายได้น้อย 20% ล่างสุด

2.การตรึงราคาพลังงานที่ระดับใดระดับหนึ่งนานเกินไป ทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมาก เป็นภาระด้านงบประมาณที่สูง ไม่ยั่งยืน และสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหากภาครัฐจำเป็นต้องยกเลิกอุดหนุนโดยฉับพลัน ส่งผลให้ราคาพลังงานต้องปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้

3.ในระยะยาว การอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลที่ไม่สะท้อนต้นทุนต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล มากเกินไป

 

ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาครัฐจึงควรปรับเปลี่ยนมาตรการโดยเน้นการบริหารราคาพลังงานในลักษณะ Managed Float คือ การทยอยปรับขึ้นราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฝืนทิศทางของราคาในตลาด เพื่อให้เวลาผู้บริโภคในการปรับตัว และเสริมด้วยมาตรการการอุดหนุนเฉพาะจุดแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มธุรกิจขนส่งสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบ ความเดือดร้อนอย่างตรงจุด ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและยกระดับเสถียรภาพของระบบพลังงานในระยะยาว

ทั้งนี้ในภาคการเงิน EIC ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นเกินกรอบนโยบายการเงินที่ 1-3% ในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ตลอดปีนี้ เนื่องจากกนง.จะยังให้ความสำคัญกับเป้าหมายการประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางมากกว่าเป้าหมายอื่น อีกทั้งเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่และมีแนวโน้มปรับลดลงในปีหน้า และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะเพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี จนอาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มสูงขึ้นมากจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

สำหรับค่าเงินบาทจะผันผวนในทิศทางอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลกระทบของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยมาอยู่ในระดับ 32.5-33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปลายปี จากดุลบัญชีเดินสะพัด ที่จะปรับตัวดีขึ้นตามภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

โดยในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วและจะยืนอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงปีนี้ท่ามกลางข้อจำกัดด้านมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม จะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้าๆ โดยระดับ GDP รายปีจะยังไม่กลับไปเท่าระดับของปี 62 จนกระทั่งช่วงครึ่งหลังของปี 66 และเศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าคาดจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่ง EIC คาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาคู่กับเงินเฟ้อสูง (stagflation) ที่รุนแรงและเนิ่นนานขึ้น

ขณะเดียวกันยังเกิดการชะงักของอุปทานในภาคการผลิตและขนส่ง ทั้งจากนโยบาย Zero Covid ของจีนและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอมากกว่าคาด กระทบต่อการส่งออกของไทยตามมาด้วย รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจทำให้ภาวะการเงินโลกตึงตัวและผันผวนมากขึ้น การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศล่าช้าจากผลกระทบของสงคราม การระบาดโควิดรอบใหม่ และการที่จีนกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ทำให้การที่นักท่องเที่ยวจีนจะออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศได้ต้องเลื่อนไปอีก ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่งอเที่ยวจีนเริ่มเดินทางออกมาท่งอเที่ยวได้ในช่วงต้นปี 66 และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy

แรงงาน MoU ชาวลาวกลุ่มแรกเดินทางเข้าไทยแล้ววันนี้

รมว.แรงงานเผยแรงงานชาวลาวกว่า 2 ร้อยคนที่เข้ามาทำงานตาม MoU เดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อกักตัว ณ สถานที่กักกัน จ.หนองคาย ก่อนนายจ้างในประเทศรับตัวไปทำงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้(28 มี.ค.)แรงงานสัญชาติลาวที่เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU จำนวน 236 คน ได้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย เพื่อเข้ากักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ) ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วยโรงแรมแกรนด์พาราไดซ์ หนองคาย จำนวน 158 คน และห้องเช่าเรือนเพชร (บมจ.ก้องพัฒนโชค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) จำนวน 78 คน รวมทั้งสิ้น 236 คน มีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 6,900 – 7,500 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับการเลือกสถานที่กักตัว มีรถของสถานกักตัวรับจากด่านมาที่พัก พร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ โดยทั้งหมดต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็มจากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดจะให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 138 คน จังหวัดสระบุรี 78 คน และจังหวัดนนทบุรี 20 คน

 

โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกะทรวงแรงงาน ห่วงใยนายจ้าง สถานประกอบการที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ท่านได้กำชับให้กระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรัดกุม เข้มงวด และครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อนายจ้าง สถานประกอบการในประเทศไทยมีแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ รับสถานการณ์โควิด – 19 ที่กำลังคลี่คลาย ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายกรมการจัดหางานเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี โดยขณะนี้มีการเตรียมสถานที่กักกันสำหรับแรงงาน 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานตาม MoU ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว มุกดาหาร ตาก ระนอง และหนองคาย สำหรับจังหวัดหนองคายที่แรงงานชาวลาวเดินทางเข้ามาในวันนี้มี ศูนย์ OQ จำนวน 12 แห่ง เป็นจำนวนห้องพักรวม 763 ห้อง สามารถรองรับผู้กักตัวสูงสุด 1,847 คน

 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการที่ต้องการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU มีขั้นตอน ดังนี้

1.นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ แบบ นจ.2 หนังสือแต่งตั้ง สัญญาจ้างงาน และเอกสารนายจ้าง

2.การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางาน/สจจ. สจก. 1-10 มีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง

3.ประเทศต้นทางรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง

4.นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนแรงงานต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

4.1 บัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่ประเทศต้นทางรับรอง

4.2 แบบ บต.31 หรือ บต.33 พร้อมเอกสารและหลักฐาน

4.3 หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อมาก่อนในช่วงไม่เกิน 3 เดือน

4.4 หนังสือยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการกักตัว ได้แก่ ค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษากรณีติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงกรณีป่วยฉุกเฉินหรือโรคอื่นระหว่างกักตัว/กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19

4.5 หลักฐานยืนยันว่ามีสถานที่กักตัวตามที่ราชการกำหนด

4.6 หลักฐานที่ยืนยันว่ามียานพาหนะเพื่อรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัว

4.7 กรณีเข้าประกันสังคมซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย 4 เดือน

4.8 กรณีเข้าประกันสังคม นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน

– ชำระค่าคำขอและค่าใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท

– วางเงินประกัน (กรณีนายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง) หลักประกัน 1,000 บาท/แรงงานต่างด้าว 1 คน

 

5.กรมการจัดหางานมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่แรงงานต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยจะอนุญาตให้นำเข้าตามจำนวนสถานที่รองรับในการกักตัว

6.เมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR และ ATK (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 3 เดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างแจ้งไว้ (ไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น และหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักกัน)

7.แรงงานต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรคเป็นขั้นตอนแรก หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะส่งกลับประเทศต้นทาง เพราะไม่สามารถอนุญาตให้ทำงานได้ตามกฎหมาย หากไม่พบเป็นโรคต้องห้ามจะเข้าสู่กระบวนการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี RT – PCR ดังนี้

1.แรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง

2.แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบเข้ารับการตรวจสุขภาพ 6 โรค หากตรวจผ่าน กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แก่คนต่างด้าว ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารับการรักษา โดยนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่นายจ้างซื้อไว้ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าว และให้นายจ้างรับแรงงานต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ

8.แรงงานต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว รับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่แรงงานต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy

“ธปท.” แจงสาเหตุ Crypto ยังไม่เหมาะใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงเหตุผลที่ Cryptocurrency ยังไม่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินและค่าธรรมเนียมการโอน,ใช้เวลาการโอน 0.4 วินาที-10 นาที,ใช้ได้ไม่ทั่วถึง ขึ้นกับการยอมรับของร้านค้า,การคงมูลค่ามีความผันผวนสูง,เสี่ยงต่อภัยไซเบอร์และการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะที่ระบบการชำระเงินของไทยในปัจจุบัน การชำระเงินผ่านพร้อมเพย์สำหรับประชาชน ไม่มีค่าธรรมเนียม,พร้อมเพย์ใช้เวลาการโอนน้อยกว่า 1 วินาที, ใช้ได้ทั่วประเทศ โดย QR Code รองรับทุกธนาคาร และมีมากกว่า 7 ล้านจุดทั่วประเทศ,มูลค่าไม่ผันผวน และมีความปลอดภัยสูงภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแล

พร้อมกันนั้น ธปท.ได้โพสต์คำกล่าวของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ที่ระบุว่า สิ่งที่เป็นแก่นของธนาคารกลาง และจะไม่เปลี่ยนคือ การมีภาครัฐเป็นผู้รักษามูลค่าของเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาระบบนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่า มั่นคงและตอบโจทย์ มีประสิทธิภาพสูง เทียบกับ Cryptocurrency ที่แม้เป็นนวัตกรรม แต่จัดเป็นกระแส ที่ไม่ตอบโจทย์การเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสพุ่ง 5.66 ดอลลาร์

วันนี้ (24 มี.ค.65) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ปิดวันพุธ(23มี.ค.)พุ่งขึ้น 5.66 ดอลลาร์

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพ.ค. ที่ตลาดไนเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 5.66 ดอลลาร์ ปิดที่ 114.93 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนพ.ค. ปรับขึ้น 6.12 ดอลลาร์ ปิดที่ 121.60 ดอลลาร์/บาร์เรล

หุ้นดาวโจนส์ลดลง 448.96 จุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 มี.ค.65) หุ้นดาวโจนส์ปิดวันพุธ(23มี.ค.) ลดลง 448.96 จุด (1.29%) ปิดที่ 34,358.50 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 55.37 จุด (1.23%) ปิดที่ 4,456.24 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 186.21 จุด (1.32%) ปิดที่ 13,922.60 จุด

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศวันนี้ (24 มี.ค.65)​

ผู้สื่อข่าวรายงานอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ​ประจำวันที่​ 24 มี.ค.65 ว่า​ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นสกุลเงินตราต่างๆตามเวลา 08.30 น.(ตามตารางประกอบข้างล่าง)​โดยเงินดอลล่าร์สหรัฐรับซื้อ​ 33.23 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ​ ขายออก 33.95 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ​

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy

 

ประธานสภาตลาดทุนฯ แนะรัฐผลักดันแผนพัฒนาตลาดทุนหนุน SME-Startup

ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FECTO) แนะรัฐบาลเร่งผลักดันแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับใหม่ หนุน SME-Startup เข้าถึงแหล่งทุน ชี้ตลาดทุนไทยยังน่าสนใจฟันด์โฟลว์ไหลเข้าต่อเนื่อง ด้านวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน กระทบน้อยมองเป็นโอกาสส่งออกอาหารไทย

วันที่ 23 มีนาคม 2565 นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FECTO) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับตลาดทุนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นจุดที่ดีที่จะทำแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 4 และใช้โอกาสของตลาดทุนไทยในขณะนี้ ที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาจำนวนมากต้องบอกว่าวันนี้เราประสบความสำเร็จมาอย่างดีแล้วในการที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เข้าถึงตลาดทุนและทำให้บริษัทเหล่านั้นเติบโต

แต่หลังจากนี้จะต่อยอดต่อไปอย่างไรเพื่อให้เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพเข้ามาระดมทุนในตลาดได้เพิ่มมากขึ้น ในส่วนนี้ก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนแผนพัฒนาตลาดทุนที่กำลังจัดทำอยู่ และช่วยกันผลักดันให้ตลาดทุนยกระดับขึ้นไปอีก “ความน่าสนใจของตลาดทุนไทย คือการที่เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ และขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวและบริการ ขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนในไทยก็มีความแข็งแกร่ง และดัชนีหุ้นไทยเพิ่งขึ้นพ้น 1,600 จุด ในขณะที่ตลาดอื่นฟื้นตัวพ้นจุดนี้ไปนานแล้ว ทำให้ดึงดูดเงินทุนให้ไหลเข้ามาในตลาดทุนไทย” นายไพบูลย์ กล่าว

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ทั้งนี้จากวิกฤตสงครามรัสเซียยูเครน ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีการค้าขายกับรัสเซียไม่มาก แต่ถ้ามองในแง่ของโอกาส ทั้งการเกิดขึ้นของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย ทำให้เกิดการจัดระเบียบโลกใหม่ ซึ่งทำให้เห็นทั้งโลกพยายามสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและด้านอาหารมากขึ้น ซึ่งในด้านอาหาร ไทยถือเป็นจุดแข็ง และเป็นโอกาสที่จะทำให้ทั่วโลกนำเข้าอาหารจากไทยมากขึ้น

ในส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะสามารถคุมภาวะเงินเฟ้อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าโตต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมาจากราคาพลังงาน ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยทำให้ราคาพลังงานปรับลดลงได้ และมองการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ด้วยการตรึงราคาหรืออุดหนุนราคาพลังงานนั้น รัฐบาลมาถูกทางแล้ว เพราะขณะนี้ความต้องการพลังงานยังสูง หากปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมได้

“มองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเงินเฟ้อถูกทางแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยทำให้ราคาพลังงานปรับลดลงได้ แต่อาจต้องทำมากขึ้นอีก อาจต้องมองไปถึงคนที่ใช้พลังงานจำนวนมาก เช่น พวกโรงงานต่างๆ ดังนั้นถ้าราคาพลังงานยังไม่ลง อย่าใช้นโยบายการเงิน เพราะอาจไม่มีประสิทธิภาพได้” นายไพบูลย์ กล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

ตลท.คุมเข้มเทรดหุ้น เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล ช่วยลดความเสี่ยงผู้ลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยปรับระดับของมาตรการให้เข้มขึ้นจากเดิม และเพิ่มมาตรการการหยุดพักการซื้อขาย 1 วันทำการเป็นมาตรการในระดับสูงสุด ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ 4 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เหมาะสมและเพื่อที่จะป้องกันความเสี่ยงให้ผู้ลงทุนได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น ด้วยการยกระดับของมาตรการให้เข้มขึ้นจากเดิม และเพิ่มมาตรการการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 1 วันทำการเป็นมาตรการในระดับสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.แล้ว

สำหรับมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่นี้ จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดตามภาพประกอบด้านล่างดังนี้

 

ทั้งนี้ มาตรการในแต่ละระดับมีระยะเวลาเริ่มต้นจนถึงวันสิ้นสุดครั้งละ 3 สัปดาห์ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาขยาย หรือยกระดับมาตรการได้ เมื่อพบว่าสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงผิดปกติ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลของหลักทรัพย์ที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายโดยละเอียด ทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน รวมถึงความเสี่ยงและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับสภาพการซื้อขายของหลักทรัพย์ก่อนตัดสินใจลงทุน

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดมาตรการกำกับการซื้อขายที่ปรับปรุงใหม่ได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ www.set.or.th ภายใต้หัวข้อ “กฎเกณฑ์/การกำกับ” และ “กฎเกณฑ์-หนังสือเวียนส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์”

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

กรมท่าฯเซ็นย้าย “ผอ.ท่าเบตง” อ้างเพื่อความเหมาะสม

หลังจากที่สายการบินนกแอร์ประกาศหยุดให้บริการเส้นทางดอนเมือง-เบตงโดยไม่มีกำหนด หลังจากที่เปิดให้บริการแค่ 2 เที่ยวบินคือเที่ยวบินปฐมฤกษ์ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมเดินทางเป็นประธานและเที่ยวบินคณะสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 มี.ค.และ18 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ภาคเอกชนเร่งหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

ล่าสุดปรากฏว่ามีหนังสือคำสั่งกรมท่าอากาศยาน ให้ย้ายนางดวงพร สุวรรณมณี ตำแหน่งผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส ที่ไปช่วยราชการในฐานะผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ให้ไปช่วยปฏิบัติราชการที่กองควบคุมมาตรฐานสนามบิน โดยให้ขาดจากหน้าที่ในตำแหน่งเดิม พร้อมแต่งตั้งให้นางกรณิศ สุขการ ตำแหน่งนักวิชาการขนส่งชำนาญการท่าอากาศยานนราธิวาส ไปรักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง และแต่งตั้งโดยคำสั่งลงวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ลงนามโดยนายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน

 

สำหรับหนังสือคำสั่ง จากกรมการท่าอากาศยานมีทั้งหมด 3 ฉบับ คือ 1.คำสั่งกรมท่าอากาศยาน ที่ 274/2565 เรื่อง ให้ข้าราชการไปช่วยปฏิบัติราชการ ด้วยพิจารณาเห็นเป็นการสมควรเพื่อให้การปฏิบัติราชการของกรมท่าอากาศยาน เป็นไปด้วย ความเรียบร้อย ต่อเนื่องและมีความเหมาะสม สามารถขับเคลื่อนภารกิจของกรมท่าอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงให้ยกเลิกคำสั่งกรมท่าอากาศยาน ที่ 1041/2564 สั่ง ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 และให้นางดวงพร สุวรรณมณี ตำแหน่งผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส ตำแหน่งเลขที่333 ไปช่วยปฏิบัติราชการที่กองควบคุมมาตรฐานสนามบิน โดยให้ขาดจากหน้าที่ในตำแหน่งเดิมทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2565

ฉบับที่ 2 คำสั่งกรมท่าอากาศยาน คำสั่งกรมท่าอากาศยาน ที่ 275/2565 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนตามที่กรมท่าอากาศยานได้มีคำสั่งให้นางดวงพร สุวรรณมณี ตำแหน่งผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส ไปช่วยราชการที่กองควบคุมมาตรฐานสนามบิน นั้นเพื่อให้การปฏิบัติราชการของท่าอากาศยานนราธิวาส เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อเนื่องและเกิดประโยชน์แก่ทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ยกเลิกคำสั่งกรมท่าอากาศยาน ที่ 1231/2564 สั่ง ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และแต่งตั้งให้ นางสาวสุรีรัตน์ ทิพย์โยธา ตำแหน่งนักวิชาการขนส่งชำนาญการพิเศษ ตำแหน่งเลขที่ 438 ท่าอากาศยานกระบี่ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่อากาศยานนราธิวาส โดยให้ขาดจากหน้าที่ในตำแหน่งเดิมทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงสั่ง ณ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565

และฉบับที่3 คำสั่งกรมท่าอากาศยาน ที่277/2565 เรื่องแต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทน ตามที่กรมท่าอากาศยานได้ยกเลิกคำสั่งให้นางดวงพร สุวรรณมณี ตำแหน่งผู้อำนวยการท่าอากาศยานนราธิวาส ตำแหน่งเลขที่ 333 ไปช่วยราชการในฐานะผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตง โดยไม่ขาดจากหน้าที่ในตำแหน่งเดิม และให้ไปช่วยปฏิบัติราชการที่กองควบคุมมาตรฐานสนามบิน โดยให้ขาดจากหน้าที่ตำแหน่งเดิมนั้นเพื่อให้การปฏิบัติราชการของท่าอากาศยานเบตงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อเนื่องและเกิดประโยชน์แก่ทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงแต่งตั้งให้ นางกรณิศ สุขการ ตำแหน่งนักวิชาการขนส่งชำนาญการ ตำแหน่งเลขที่ 576 ท่าอากาศยานนราธิวาส รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานเบตงโดยให้ขาดจากหน้าที่ในตำแหน่งเดิมทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy

สรรพสามิตเซ็น MOU 2 ค่ายรถจีน ขายอีวีราคาถูก

กรมสรรพสามิตลงนาม 2 ค่ายรถจีน บันทึกข้อตกลงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า “เกรทวอลล์-เอ็มจี” ส่งรถอีวีเข้าโครงการค่ายละ 3 รุ่น

วันที่ 21 มีนาคม 2565 นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ

โดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการจะได้สิทธิประโยชน์จากการนำเข้าและผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และเงินอุดหนุนจำนวน 70,000 หรือ 150,000 บาทต่อคัน ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่

ส่งผลให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าลดลง และประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า ในวันนี้ (21 มีนาคม 2565) กรมสรรพสามิตได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว ระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่พร้อมเข้าร่วมมาตรการ จำนวน 2 ราย ได้แก่

1.บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

2.บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ เมื่อได้ลงนามในข้อตกลงแล้ว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมทั้ง 2 ราย จะได้รับสิทธิในการรับเงินอุดหนุนจากการจำหน่าย รถยนต์ BEV โดยในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้

โดยบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำรถยนต์ BEV มาจำหน่าย จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ ORA GOOD CAT 500 ultra, ORA GOOD CAT 400 Tech และ ORA GOOD CAT 400 Pro

และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำรถยนต์ BEV มาจำหน่าย จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ MG ZS EV, MG EP และ MG EP PLUS ซึ่งราคาที่แสดงในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้จะเป็นราคาขายปลีกแนะนำที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์รายอื่น ๆ เข้าร่วมลงนามข้อตกลงในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป