TK ปีนี้ตั้งเป้าลูกหนี้เช่าซื้อรวมโต 40%

“ฐิติกร” ตั้งเป้าลูกหนี้เช่าซื้อ รวมทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจอื่นๆ ในประเทศและต่างประเทศโตรวม 40% และปักธงเฉพาะลูกหนี้เช่าซื้อรวมเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศจะเติบโตถึง 40% แถมการได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียน และธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยของบริษัทย่อยที่ TK ถือหุ้น 99.99% จะเป็นรายได้ใหม่เพิ่มเติม มองตลาดต่างประเทศทั้งในกัมพูชาและ สปป.ลาว ยังโตต่อเนื่อง

น.ส.ปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ในปี 2565 นี้ TK จะเดินหน้ารุกตลาด โดยได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจลูกหนี้เช่าซื้อรวมเติบโต 40% โดยลูกหนี้เช่าซื้อรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 5,550 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 จาก 3,949 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งจะเป็นลูกหนี้เช่าซื้อรวมที่เติบโตจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเติบโตจากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ TK และจากรายได้อื่นๆ โดยเฉพาะรายได้จากธุรกิจใหม่ที่ TK เพิ่งได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมของบริษัทย่อยที่ TK ถือหุ้น 99.99% ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ของบริษัท ทีเค โบรคเกอร์ จำกัด หรือ TK Broker สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ของบริษัท ทีเค เงินทันใจ จำกัด

“TK กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจด้วยการบริหารการเงินอย่างระมัดระวัง เน้นรักษาสถานะเงินสดของบริษัทฯ ในระดับที่พร้อมลงทุนและเติบโตได้ทันที ซึ่งในปี 2565 นี้ บริษัทฯ พิจารณาสถานการณ์ในภาพรวมแล้วและเห็นว่าเป็นจังหวะที่เราจะรุกและลุยตลาดเพื่อเติบโตในธุรกิจเดิมที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากบริการใหม่ที่ต่อยอดจากบริการเดิม นอกจากนี้ เรายังมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตในตลาดต่างประเทศที่ TK มีธุรกิจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่กัมพูชา และ สปป.ลาว” น.ส.ปฐมา กล่าว

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกหนี้เช่าซื้อรวมจะเติบโต 40% ในปี 2565 นี้ บริษัทฯ คาดว่าจะมาจากธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศของ TK ที่จะเติบโตจากปีก่อนถึง 40% โดยธุรกิจของ TK ในต่างประเทศทั้งในกัมพูชา และ สปป. ฃลาว จะเติบโตรวม 30% ที่สำคัญคือ TK จะมีรายได้จากบริการใหม่ ทั้งจากบริการสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียน และนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นรายได้เพิ่มเติมจากเดิม

“สำหรับธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศ เรามีแผนที่จะขยายให้บริการ Dealers รถจักรยานยนต์อีก 300 ร้าน เป็น 800 ร้านในปีนี้ และเพิ่มยอดขายให้พันธมิตรเดิมและเพิ่มช่องทางในการให้บริการ โดยได้นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการผ่าน TK Plus แอปพลิเคชัน และ Line @ TK Plus ซึ่งปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดกว่า 140,000 ราย และกว่า 90,000 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้ มีลูกค้าใช้ช่องทาง Online เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ TK สามารถลดต้นทุนในการบริหารลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่ TK ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่องมา 3 ปี ปี 2565 นี้ TK ตั้งเป้ากลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากได้รับการตอบรับจากดีลเลอร์รถจักรยานยนต์เป็นอย่างดีในไตรมาส 4 ของปี 2564 ที่ผ่านมา ส่วนตลาดต่างประเทศในกัมพูชา และ สปป.ลาว บริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มจำนวนสาขาอีก 3 สาขา รวมทั้งสิ้นเป็น 19 สาขา ภายในสิ้นปี 2565 นี้ ด้านบริการใหม่ต่างๆ TK จะเริ่มให้บริการนายหน้าประกันวินาศภัยและสินเชื่อจำนำทะเบียนในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยจะให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนเป็นพิเศษเฉพาะกับลูกค้า TK ที่มีอยู่ในดาต้าเบสของ TK กว่า 3 ล้านราย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลจะกำหนดกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนหลังจากนี้” นายประพล กล่าว

ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าวยังคงมีตัวแปรซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุม ทั้งสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งบริษัทฯ คาดหวังว่าการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะไม่รุนแรง ไม่เกิดการระบาดเวฟใหม่ที่รุนแรงกว่าจนต้องปิดประเทศ และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะยุติได้ในไม่ช้า รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดเพดานดอกเบี้ยตามร่างประกาศสัญญาเช่าซื้อของภาครัฐที่บริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เพื่อประโยชน์กับภาคประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร? หากราคาน้ำมันพุ่งถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรล

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งสมมติฐานหากราคาน้ำมันจาก 100 เหรียญต่อบาร์เรลไปถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรล จะส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกขยายตัวช้าลงกว่าคาด ชี้ประเทศไทยเศรษฐกิจชะลอต้นทุนการนำเข้าสูง-เร่งความเสี่ยงเงินเฟ้อไทยสูงขึ้น

วันที่ 11 มีนาคม 2565 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากการคว่ำบาตรระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 และอาจจะลุกลามไปสู่การคว่ำบาตรเรื่องพลังงาน ทั้งแก๊สธรรมชาติและน้ำมัน ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

ในขณะที่การผลิตน้ำมันไม่เพียงพ่อต่อความต้องการน้ำมันได้ อีกทั้งมีการชะลอการผลิตลงจากหลากหลายส่วน ทำให้ทิศทางราคาพลังงานมีแนวโน้มขยับขึ้น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล มีโอกาสจะขยับไปถึง 120 เหรียญต่อบาร์เรล และมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นไปได้อีก

ทางสำนักวิจัยได้ใช้แบบจำลองจาก Oxford Economics (ภาพประกอบ) เปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจ (GDP) ในแต่ละประเทศ บนสมมติฐาน กรณีราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยทั้งปี ขยับขึ้น 50 เหรียญต่อบาร์เรล จากสมมติฐาน 100 เหรียญต่อบาร์เรล ไปที่ 150 เหรียญต่อบาร์เรล จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง GDP อย่างไรเมื่อเทียบกับกรณีฐาน

ประเทศที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันสูงขึ้น คือ รัสเซีย และประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ขณะที่ประเทศที่ใช้น้ำมันมากๆ อาทิ ไทย อินเดีย ประเทศในอาเซียน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ จะมีเศรษฐกิจที่ชะลอกว่าคาด นั่นคือ ชะลอกว่ากรณีฐานที่ราคาน้ำมัน 100 เหรียญต่อบาร์เรล แปลว่า ถ้าราคาน้ำมัน 150 เหรียญต่อบาร์เรล เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ เพียงแต่จะขยายตัวช้าลงกว่ากรณีฐาน เช่น ไทย อาจจะชะลอได้ 0.3% จากกรณีฐาน

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซีย และประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูง จะไม่เร่งรีบเจรจา หรือเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน จนทำให้ราคาน้ำมันย่อลงในทันที ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบ คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าราคาน้ำมันที่คาดกันว่าจะอยู่ระดับที่สูงเกิน 120 เหรียญต่อบาร์เรล จะทะยานขึ้นไปแตะระดับ 150 เหรียญต่อบาร์เรล หรือไม่ โดยคาดว่าจุดพีคจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2

“สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจที่ชะลอลง มาจากราคาน้ำมันที่สูง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูง รวมทั้งเงินเฟ้อของไทยก็มีความเสี่ยงจะสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้มีโอกาสที่ขึ้นไประดับ 4-5% และมีโอกาสที่เงินเฟ้อของไทยจะทะลุ 5% ได้ จากราคาพลังงาน และราคาอาหารสด ในช่วงไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ดี กรณีราคาน้ำมันพุ่งสูงเกิน 150 เหรียญต่อบาร์เรล คงเป็นสถานการณ์ชั่วคราวในไตรมาส 2 หลังจากนั้น ราคาน้ำมันน่าจะย่อลง จากการที่คนเริ่มหาพลังงานทางเลือกมากขึ้น แม้ GDP ของไทย ยังขยายตัวในระดับสูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา แต่มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้” ดร. อมรเทพ กล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

รัสเซีย-ยูเครน: “ดร.ก้องเกียรติ” ชี้ยืดเยื้อกระทบลงทุน-แนะไทยเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่อยืดเยื้อกระทบบรรยากาศลงทุน ชงรัฐยกเลิกตรวจ RT-PCR เข้าประเทศแบบเสรี แนะต้องกล้าปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่

วันที่ 3 มีนาคม 2565 ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ผมประเมินว่าสงครามรัสเซียและยูเครนรอบนี้คงไม่น่าจะจบเร็ว เพราะถ้ารัสเซียเคลื่อนกำลังพลเข้าไปค่อนข้างมาก นั่นคือพยายามจะยึดทั้งประเทศ เพียงแต่นึกไม่ถึงว่าจะเจอแรงต้านที่สูงมาก เพราะฉะนั้น สถานการณ์คงจะยืดเยื้อออกไป แต่ความยืดเยื้อดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนคุ้นชินไปเอง ไม่ต่างจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ตลาดหุ้นร่วงหนักแค่ช่วงแรกจากความตกใจของนักลงทุน แต่หลังจากนั้นภาพตลาดหุ้นจะแกว่งขึ้น-ลงจนกลายเป็นเรื่องปกติ

โดยจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นนั้น ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อการลงทุน เกิดความลังเลและชะลอตัดสินใจลงทุน ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัสเซียและยูเครน และแน่นอนผลกระทบชัดเจนที่สุดคือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น กระทบต้นทุนการขนส่งที่แพงขึ้น และกระทบถึงทุกประเทศที่ไม่มีส่วนร่วมในสงครามด้วย

“แต่อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลาย ๆ ครั้ง ๆ ความผันผวนจะอยู่กับเรานาน แต่ในแง่ผู้ลงทุนก็มองเป็นโอกาสได้ ถ้ากล้าซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดตกใจมากๆ เหมือนซื้อเมื่อเสียงปืนดังขึ้นนัดแรก และเมื่อไหร่ที่เหตุการณ์จบลงก็เป็นช่วงขาย” ดร.ก้องเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์การลงทุน ไม่กล้าถือของนาน ช่วงนี้หลีกเลี่ยงลงทุนไปก่อน เพราะไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์รัสเซียยูเครนจะจบอย่างไร

ชงรัฐยกเลิกตรวจ RT-PCR เข้าประเทศ
ดร.ก้องเกียรติกล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากฝากรัฐบาลไทยคือ อยากจะให้เปิดประเทศแบบเสรีโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันเวียดนามเริ่มเปิดประเทศเแบบเสรีไปแล้ว โดยตรวจ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่องบินเท่านั้น ลงเครื่องไม่ต้องตรวจซ้ำ สามารถเดินทางเข้าประเทศได้เลย ขณะที่ควรปรับราคาค่าตรวจ RT-PCR ให้ถูกลง เพราะตอนนี้แพงเกินไป ที่เวียดนามมีพนักงานมาตรวจถึงบ้านแค่ประมาณ 1,500 บาท รู้ผลใน 4 ชั่วโมง ที่ดูไบมีพนักงานมาตรวจถึงที่พักโรงแรมแค่ 1,800 บาท รู้ผลใน 4 ชั่วโมงเช่นกัน แต่ไทยถ้าจะตรวจแบบด่วนๆ ต้องเพิ่มเงินหลายพัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อนักท่องเที่ยวที่อยากเดินทางมาไทย

“ไทยต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ซึ่งผมเชื่อว่าคนที่เดินทางเข้ามาในไทยน่าจะปลอดภัยมากกว่าคนที่อยู่ในประเทศไทย เพราะผ่านการตรวจ RT-PCR เรียบร้อยแล้ว เปอร์เซ็นต์การติดโรคระหว่างเดินทางน่าจะน้อย ส่วนการจะทำให้คนในประเทศติดเชื้อโควิดน้อยลงนั้น คือกระตุ้นการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งตอนนี้เปอร์เซ็นต์ยังน้อยกว่าบางประเทศเพื่อนบ้าน” ดร.ก้องเกียรติกล่าว

แนะปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ดร.ก้องเกียรติกล่าวอีกว่า ไทยต้องปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตอนนี้เรายังอนุรักษนิยมเกินไป ตั้งแต่เรื่องกฎหมายควรยกเว้นภาษีพวกธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และสตาร์ตอัพ ซึ่งล้วนจะสนับสนุนการสร้างธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกมากในอนาคต ฉะนั้น ตอนนี้เราถือว่ายังล้าหลังเมื่อเทียบเพื่อนบ้าน และการซื้อขายหุ้นนอกตลาด(Private equity) ด้วย

นอกจากนี้ กฎหมายต่อกลุ่มชาวต่างชาติที่มาทำงานในไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเงินเดือนสูง ต้องทบทวนเรื่องลดภาษีบุคคธรรมดาของคนกลุ่มนี้ด้วย

“วันนี้เราต้องกล้าๆ ไม่ใช่กล้าๆ กลัวๆ เวียดนามตอนนี้เปิดประเทศเร็ว กฎหมายง่าย ถึงแม้จะเป็นชาติคอมมิวนิสต์ คนอาจมองว่าได้เปรียบในแง่รัฐบาลมีความต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้าง และผมเสียดายที่ไทยวันนี้ GDP เราโตแค่ 3% โดยเฉลี่ย ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยโตระดับ 8-12% กลายเป็นกำลังกินบุญเก่า ส่วนของใหม่ไม่ค่อยมี ผมเชื่อว่าทุกรัฐบาลทราบปัญหา แต่กลัวทำหรือเปล่าแค่นั้นเอง” ดร.ก้องเกียรติกล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

เช็กเลย ธ.ก.ส. ปล่อยกู้เงินด่วน A-Cash Gold แก้หนี้นอกระบบ วงเงินกู้ 1 แสนบาท

ธ.ก.ส. ปล่อยกู้เงินด่วน A-Cash Gold วงเงินรายละไม่เกิน 100,000 บาท ชำระคืนภายใน 1 ปี ในอัตราดอกเบี้ย MRR เสริมสภาพคล่องในการลงทุน-ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือนให้กับลูกค้า หวังช่วยลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าและป้องกันการก่อหนี้สินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงและไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ธ.ก.ส.จึงเปิดตัวสินเชื่อเงินด่วน A-Cash Gold

 

เพื่อสนับสนุนลูกค้าให้มีเงินทุนในการเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพหรือเป็นค่าใช้จ่ายสำรองเงินฉุกเฉินในครัวเรือน วงเงินรายละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) กำหนดการชำระคืนภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ทำสัญญา

สำหรับเงื่อนไขการกู้เงินสินเชื่อ A-Cash Gold ต้องเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีประวัติการชำระหนี้ โดยลูกค้าสามารถใช้หลักประกันที่จดทะเบียนจำนองได้ไม่เกินร้อยละ 95 ทั้งนี้ ลูกค้าที่สนใจสินเชื่อเงินด่วน A-Cash Gold สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามเพิ่มเติมที่ Call Center 02 555 0555

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market

แบงก์รัฐจัดสินเชื่อดอกเบี้ยถูก หนุนแจ้งเกิดอุตฯรถอีวี

แบงก์รัฐรับลูกนโยบายรัฐบาล แห่ออกสินเชื่อหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี “ออมสิน” จัดดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี กู้ได้สูงสุด 10 ล้านบาท ขณะที่ “EXIM BANK” สนับสนุนอีวีทั้งซัพพลายเชน จัดสินเชื่อปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตปล่อยกู้สูงสุด 100 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% เผยธุรกิจขอกู้แล้ว 1,500 ล้านบาท ฟาก “SME D Bank” อัดสินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SMEs กู้ได้สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 18 เดือน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์อีวี) เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์ตแบตเตอรี่ และอื่น ๆ ทางธนาคารออมสินมีจัดสินเชื่อไว้รองรับ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่อง เพื่อนำไปลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้อง

ได้แก่ สินเชื่อ GSB for BCG Economy สนับสนุนธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสรรค์สังคม ไม่จำกัดวงเงินกู้ เริ่มตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ดอกเบี้ยพิเศษคงที่เริ่มต้น 3.99% ต่อปี ใน 2 ปีแรก กรณีมีหลักประกันค้ำเต็มวงเงินกู้ ส่วนกรณีมีหลักประกันค้ำไม่น้อยกว่า 30% ใน 2 ปีแรก คิดดอกเบี้ย 4.99% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อต่อเติมซ่อมแซมสถานที่ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบกิจการ โดยให้วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย มีทั้งเงินกู้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MOR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี) และเงินกู้ระยะยาวให้กู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปีแรกไม่ต้องชำระเงินต้น คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก 2.99% ต่อปี ปีที่ 3-10 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา)

“ธนาคารออมสินเพิ่งออกสินเชื่อดังกล่าวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยสินเชื่อที่ออกมานี้ไม่ได้จำกัดเรื่องวงเงิน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้ามาขอสินเชื่อดังกล่าวได้ตลอด” นายวิทัยกล่าว

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจอีวี และที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมอีวีให้เกิดขึ้นในประเทศ ตลอดทั้ง supply chain โดยล่าสุดได้ออกสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan สนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนชำระได้สูงสุด 7 ปี เป็นต้น

“ที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนวงเงินสินเชื่อที่เกี่ยวกับรถอีวี รวมแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท อาทิ ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจติดตั้งสถานี EV Charging โรงประกอบรถอีวี รวมถึงเรือไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ก่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนในอนาคต” นายรักษ์กล่าว

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมออกมาเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมา ได้ออกโครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน เพื่อให้นำไปปรับปรุง หรือลงทุน เงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือฟื้นฟูกิจการ ทั้งธุรกิจปัจจุบัน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่

“สินเชื่อดังกล่าว แบงก์สนับสนุนให้สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิต ให้บริการ ค้าปลีกค้าส่ง หรือผู้ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ที่ดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1.เกษตรอุตสาหกรรมหรืออาหารแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ 2.อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานชีวมวล 3.อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือบริการทางการแพทย์ 4.กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ และ 5.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเป็นยานยนต์ไฟฟ้า” นางสาวนารถนารีกล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

มองหาธุรกิจ “เทคโนโลยี” ต้อง OTO

“บล.เคจีไอ” จับตาหุ้น OTO หรือ “วันทูวัน คอนแทคส์” ปรับโมเดลธุรกิจรุกเทคโนโลยี โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม “อีสปอร์ต” หนุนรายได้

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ออกบทวิเคราะห์หุ้น บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO หลังได้ไปเยี่ยมชมบริษัท (Company Visit) โดยจับตาถึงพัฒนาการของ OTO ที่ปรับโมเดลธุรกิจสู่เทคโนโลยี และจะประเมินราคาเป้าหมาย หลังเห็นรายได้แต่ละแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (Esports) ที่คาดว่ามีโอกาสในการเติบโตสูง

บล.เคจีไอฯ ระบุว่า OTO กำลังปรับโมเดลธุรกิจเป็นบริษัทการลงทุนทางด้านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ๆ และขยายจากธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นตัวสร้างกระแสเงินสดของบริษัท (Cash Cow) โดยบริษัท ได้ประกาศแผนเข้าลงทุนใน 2 แพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ การบริบาลทางเภสัชกรรม และส่งมอบเภสัชภัณฑ์จากเภสัชกร ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารระยะไกล (Telepharmacy) และผู้ให้บริการด้านกระบวนการยุติธรรม (Social Bureau)

ในขณะเดียวกันจากการเยี่ยมชม ฝ่ายวิจัยได้ทราบว่า บริษัท ยังมีอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับ Esports โดย OTO อยู่ระหว่างศึกษาแผนการเข้าลงทุนในแพลตฟอร์มใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Esports ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางสำหรับเกมเมอร์ในการที่จะไปท้าประลองกับเกมเมอร์คนอื่นๆ ทั่วโลก โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัล ในขณะที่แพลตฟอร์มจะได้ค่าสมัครสมาชิก

นอกจากนี้ เชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโต (อัพไซด์) จากสปอนเซอร์ เพราะการจัดการแข่งขัน (Tournament) ระหว่างผู้เล่นระดับมือโปร จะดึงดูดให้มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากด้วย เราเชื่อว่ารางวัลสำหรับผู้ชนะอาจจะเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Tokens) ซึ่งจะเป็นอัพไซด์สำหรับทั้งเกมเมอร์ และแพลตฟอร์มที่เป็นเจ้าของเหรียญด้วย

โดย บล.เคจีไอ คาดว่าบริษัทน่าจะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนในแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับ Esports ออกมาในเร็วๆ นี้

ขณะที่ธุรกิจ Telepharmacy นั้น OTO ประกาศลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) เพื่อศึกษาการตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ที่จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ป่วยกับเภสัชกรแบบผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์เพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งแพลตฟอร์ม Telepharmacy นี้พัฒนาขึ้นมาโดย OTO ในขณะที่ IP จะช่วยสร้างเครือข่ายเภสัชกรผ่าน “LAB Pharmacy” ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกเวชภัณฑ์ของบริษัท

นอกจากนี้ OTO ยังมีอัพไซด์จากการร่วมมือกับร้านขายยาและเภสัชกรอื่นๆ เพื่อขยายเครือข่ายเพิ่มเติมอีก ฝ่ายวิจัยคาดว่ารายละเอียด JV น่าจะได้ข้อสรุปในครึ่งหลังของปี 2565

ในส่วนของแพลตฟอร์ม Social Bureau ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Blockchain Prime Holding ซึ่ง OTO จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทนี้ 20% ใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Social Bureau เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เน้นการใช้กระบวนการทางสังคมออนไลน์ในกระบวนการยุติธรรมแบบกระจายจากศูนย์กลาง (Decentralized Community–oriented Justice)

โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่ต้องการแสวงหาความยุติธรรม และทำให้มีโอกาสที่จะเรียกค่าเสียหายคืนมาได้ ซึ่งการแก้ไขข้อพิพาทตามวิธีการปกติไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับมือกับคดีฉ้อโกงและคดีทางไซเบอร์ (Cybercrime) ที่มีจำนวนมากมายมหาศาลได้ โดยเฉพาะอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน

โดยแพลตฟอร์มนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสามารถรายงานกรณีที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ที่จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับแพลตฟอร์มสามารถตรวจสอบประวัติอาชญากรรมที่มีการรายงานได้

ทั้งนี้ คาดว่าแพลตฟอร์ม Social Bureau จะเริ่มเปิดให้รายงานคดีต่างๆ ได้ในครึ่งหลังของปี 2565

สำหรับธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นตัวทำเงิน และการที่บริษัทมีเงินสดในมือจํานวนมากจะเปิดโอกาสสู่การลงทุนใหม่ๆ โดยในช่วงห้าปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 (2557-2561) รายได้และกำไรเฉลี่ยต่อปีจากธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ของ OTO อยู่ที่ประมาณ 850 ล้านบาท และ 57 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤติโควิด -19 กลุ่มลูกค้ารายใหญ่อย่างสายการบิน หยุดการใช้บริการไป แต่คาดว่าจะเริ่มกลับมาใช้บริการในปี 2565 หลังวิกฤติโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย

นอกจากนี้ เชื่อว่า OTO มีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มอีก เนื่องจากคาดว่า OTO จะมีเงินสดในมือสูงมากกว่า 200 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2564 จากการเพิ่มทุนมูลค่าหุ้นขึ้น ประกอบกับจำนวนสมาชิกที่ใช้งานแต่ละแพลตฟอร์ม

“เรากำลังดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแต่ละแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะ Esports ที่คาดมีโอกาสในการเติบโตสูงเพื่อประเมินราคาเป้าหมายของ OTO ต่อไป”

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business

กยศ. เดินหน้า “แก้หนี้-ปลดล็อคผู้ค้ำประกัน”

กยศ. เดินหน้าผลักดันกฎหมาย แก้หนี้-ปลดล็อคผู้ค้ำประกัน หวังช่วยลูกหนี้ไม่ต้องถูกฟ้องร้องบังคับคดี ย้ำให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาดข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย พร้อมยึดหลัก “เมื่อเป็นหนี้ ต้องมาใช้หนี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาหนี้ กยศ. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มขอบเขตในการบริหาร รวมถึงให้อำนาจกองทุนฯ เข้าไปช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี หรือศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี ให้สามารถเข้าร่วมการแก้ไขหนี้ แปลงหนี้ เพื่อกลับมาผ่อนชำระได้อีกครั้ง ซึ่งล่าสุดกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านสภาวาระ 1 แล้ว

“ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กยศ. ไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เลย เพราะต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ในภาวะวิกฤต และยกเว้นคดีที่ใกล้หมดอายุความ กยศ. จำเป็นต้องฟ้องร้อง แต่ในระหว่างการฟ้องร้องลูกหนี้ก็สามารถมาไกล่เกลี่ยการผ่อนชำระหนี้ได้ อยากให้ยึดหลักว่า เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องมาใช้หนี้ และหนี้ กยศ. นั้น เมื่อมาใช้หนี้แล้ว ก็สามารถนำกลับไปปล่อยให้กู้ยืมทางการศึกษาในรุ่นต่อไปได้”
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ระหว่างรอแก้กฎหมายฉบับดังกล่าว สำหรับลูกหนี้ หรือ ผู้ค้ำประกันที่ถูกฟ้องคดี จะให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้เลย ขณะเดียวกันกฎหมายดังกล่าวยังเปิดทางให้ลูกหนี้ที่ทำการผ่อนชำระหนี้ได้ในระยะหนึ่งสามารถปลดล็อคผู้ค้ำประกันได้ โดยไม่ต้องจนชำระหนี้ครบ

 

“ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ ผู้ค้ำประกันก็จะสบายใจได้ว่าไม่มีการไปฟ้องร้องยึดทรัพย์ เพราะว่าจะไม่มีการค้ำประกัน แต่จะมีเงื่อนไขที่ผู้กู้ต้องชำระหนี้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ค้ำประกันที่ผ่านมาหากมีปัญหาก็ให้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยกับ กยศ.”

 

ทั้งนี้ปัจจุบัน กยศ. มีลูกหนี้ประมาณ 6 แสนราย โดยมีสัดส่วนหนี้เสียประมาณ 40% อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กยศ. ยังได้ลดเบี้ยปรับสำหรับผู้ผิดนัดชำระลงจาก 7.5% ต่อปี เหลือ 0.5% ต่อปี และคิดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 1% ต่อปี นอกจากนี้ยังลดค่าปรับลง 80% ให้กับผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่มีการกลับมาเจรจาเพื่อขอชำระหนี้อีกครั้ง ขณะที่ผู้มีประวัติชำระหนี้ดี ยังลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0.01% ต่อปีด้วย

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/blogs/money_market

NRF ทุ่มงบ 700 ล้านบาท ลงทุนเหมืองขุดบิตคอยน์ 2,200 เครื่อง ชูจุดขายใช้พลังงานสะอาด 100%

บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ หรือ NRF เดินหน้าแผนยุทธคริปโตฯ แม้กระแส บจ.ขุดเหมืองในตลาดหุ้นจะติดลบไหลลง เดินหน้าเทรนด์เทค นำเทคโนโลยี Blockchain เสริมศักยภาพทางธุรกิจ รุกลงทุนเครื่องขุดบิตคอยน์ 2,200 เครื่อง เซ็น MOU กับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในไทย รองรับธุรกิจเหมืองขุดคริปโตฯ ที่ใช้พลังงานสะอาด 100% เป็นรายแรกในไทย

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF บริษัทผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาหารโปรตีนจากพืช อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานและเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ เปิดเผยว่า บริษัทฯ นำเทคโนโลยี Blockchain มาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจในระยะยาว รวมทั้งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ที่มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เนื่องจาก Blockchain เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยสามารถนำมาต่อยอดกับธุรกิจหลักของบริษัทฯ เช่น การเพิ่มช่องทางสร้างรายได้,ฝ ลดต้นทุนภาคการผลิต สามารถเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้โปร่งใสและมีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นต้น

โดยในระยะเริ่มต้นบริษัทฯ จะรุกธุรกิจเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่ใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด จำนวน 10 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อรองรับการขุดบิตคอยน์จำนวน 2,000-2,200 เครื่อง สามารถขุดบิตคอยน์ได้ 50-55 BTC ต่อเดือน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการรายแรกในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจรูปแบบ Clean Cryptocurrency โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 100% โดยบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในเครื่องขุดบิตคอยน์ประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนและเงินกู้บางส่วน ทั้งนี้ บริษัทฯ จะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่นี้ทันทีหลังจากเริ่มดำเนินการติดตั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุน 20-30 เดือน

“เรามองว่าเทคโนโลยี Blockchain เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ต่อสู้กับโลกร้อนเพื่อการเติบโตในอนาคต จึงได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปีก่อน จนกระทั่งเล็งเห็นโอกาสจากการในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมาใช้ในเหมืองขุดคริปโตฯ นอกจากนี้ เรายังวางแผนจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศสหรัฐฯ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจดังกล่าวเพิ่มเติม เนื่องจากมีต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่าไทยประมาณ 3 เท่า และสำคัญเนื่องจากว่าค่าไฟฟ้าคิดเป็นประมาณ 30% ของต้นทุนทั้งหมดในการขุดคริปโตฯ” นายแดน กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกของ NRF กับการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายไปสู่ธุรกิจ Blockchain รูปแบบอื่นๆ เช่น การใช้เทคโนโลยี smart contract เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อวัตถุดิบ รวมไปถึงการใช้ NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นเครื่องมือส่งเสริมทางการตลาดในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเพิ่มโอกาสการดำเนินธุรกิจและการเติบโตในอนาคต

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket